เมื่อรถยนต์ของคุณประสบอุบัติเหตุอย่างหนัก จนบริษัทประกันประเมินว่าอยู่ในสถานะ “ความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss)” อาจเกิดความสงสัยตามมาว่าคืออะไร กรณีนี้ประกันรถจ่ายยังไง คืนทุนประกันไหม หากคืนทุนประกัน ใช้เวลากี่วัน และอีกหลายคำถาม บทความนี้ มิสเตอร์ คุ้มค่า จะอธิบายทุกแง่มุมให้คุณฟัง ตั้งแต่การคืนทุนประกันรถยังผ่อนไม่หมด ไปจนถึงการคืนซากรถติดไฟแนนซ์ ไม่มีประกัน เพื่อให้คุณเข้าใจแนวทางการจัดการรถที่เสียหายอย่างครบถ้วน
ความเสียหายโดยสิ้นเชิง หมายถึงอะไร?
หมายถึง กรณีที่รถของคุณ (รถคันที่เอาประกัน) ได้รับความเสียหายหนักจนไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้ หรือซ่อมไม่คุ้มเสียเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่ามูลค่ารถ โดยปกติแล้วบริษัทประกันจะพิจารณา 2 กรณี ดังนี้
- เสียหายโครงสร้าง เช่น โครงรถบิด หรือส่วนสำคัญงอ
- ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูง (เกิน)เมื่อร่วมค่าแรง ค่าอะไหล่ และอื่น ๆ มีมูลค่าเทียบเท่าหรือเกินกว่าทุนประกันที่ระบุในกรมธรรม์ ดังนั้น เมื่อบริษัทประกันประเมินแล้วว่าเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่จะไม่เสนอซ่อม และเลือกที่จะคืนทุนประกันรถยนต์แทนการคืนรถ โดยมีเหตุผลดังนี้
- ความเสี่ยงในการซ่อมบางจุดอาจซ่อมแล้วไม่แข็งแรง หรือมีโครงสร้างบิดเบี้ยว
- ป้องกันการเคลมซลดความซับซ้อนในอนาคต
- ประหยัดค่าใช้จ่ายการคืนทุนประกันอาจประหยัดกว่าการซ่อมซาก
ความเสียหายบางส่วน vs ความเสียหายโดยสิ้นเชิง ต่างกันยังไง?
คำนิยามของ “ความเสียหายบางส่วน” คือ รถเสียหายไม่มาก สามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ และค่าซ่อมไม่เกินมูลค่าทุนประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยบริษัทจะจ่ายค่าซ่อมเต็มวงเงินตามความเสียหายจริง เช่น รถเฉี่ยวชนขอบทาง, ประตูขูด, บังโคลนบุบ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากความเสียหายโดยสิ้นเชิง เพราะกรณีนี้คือรถเสียหายหนัก ซ่อมไม่คุ้ม หรือซ่อมไม่ได้เลย ประกันจะจ่ายคืนทุนประกัน (หลังหักค่าซาก) แทน
แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แต่ละบริษัทมีเกณฑ์ในการพิจารณาความเสียหายโดยสิ้นเชิงต่างกันออกไป เช่น บางแห่งใช้เกณฑ์ 70% บางแห่ง 80% ของทุนประกัน ส่วนประเด็นคืนทุนประกันรถยังผ่อนไม่หมด และเข้าข่ายความเสียหายโดยสิ้นเชิง เงินชดเชยจะถูกเอาไปเคลียร์กับไฟแนนซ์ก่อน ในส่วนนี้เพื่อความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ นอกจากจะเปรียบเทียบประกันรถยนต์ก่อนซื้อให้ถี่ถ้วนแล้ว ยังควรสอบถามรายละเอียดส่วนดังกล่าวให้ดีด้วย เพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณเอง
เคลมประกันรถยนต์ที่เสียหายโดยสิ้นเชิง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?
สำหรับการเคลมประกันรถยนต์ที่เสียหายโดยสิ้นเชิง จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ทุนประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ มูลค่าซากรถ หนี้คงค้างกับไฟแนนซ์ (ถ้ามี) เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ตามไปลงลึกรายละเอียดของแต่ละปัจจัย เพื่อให้คุณได้เข้าใจไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ กันหน่อยดีกว่า
1. ทุนประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
คือ “จำนวนเงินสูงสุด” ที่บริษัทประกันจะจ่ายในกรณีความเสียหายโดยสิ้นเชิง เช่น ถ้าทุนประกันรถยนต์ของคุณที่ซื้อเอาไว้ อยู่ที่ 500,000 บาท หมายความว่าตัวเลขนี้คือ “เพดาน” สูงสุดที่คุณจะได้รับจากบริษัทประกันรถยนต์
2. มูลค่าซากรถ
บริษัทประกันจะ “หักราคาซากรถ” ออกจากทุนประกัน ซึ่งถ้าหากสงสัยว่าคืนทุนประกัน ซากรถเป็นของใคร คำตอบคือ “เลือกได้” หากคุณยินยอมให้บริษัทฯ รับไปขายซากเอง คุณจะได้เงินเต็มตามทุนประกัน แต่ถ้าคุณขอซื้อซากคืน คุณจะได้ทุนประกันหักลบราคาซากแทน
3. หนี้คงค้างกับไฟแนนซ์ (ถ้ามี)
กรณีที่ยังติดไฟแนนซ์ บริษัทประกันจะดำเนินการคืนทุนประกันรถยังผ่อนไม่หมดให้ไฟแนนซ์ก่อน ถ้าทุนประกันมากกว่ายอดหนี้ที่คงค้างคุณจะได้รับส่วนต่าง แต่ในทางกลับกันหากทุนประกันน้อยกว่ายอดหนี้ คุณต้องจ่ายเพิ่มส่วนที่เหลือ
และถ้ากำลังสงสัยว่า การคืนทุนประกันรถยนต์ ค.ป.ภ. ปกติแล้วควรจะได้เงินประมาณเท่าไหร่? มิสเตอร์ คุ้มค่า ขอยกตัวอย่างการคำนวณ เพื่อให้คุณเข้าใจตรงกัน ดังนี้
- ทุนประกันรถยนต์: 400,000 บาท
- ราคาซากรถ (ประเมิน): 50,000 บาท
- กรณีไม่ซื้อซากกลับ: ได้เงินเต็ม 400,000 บาท
- กรณีขอซื้อซากคืน: ได้ 350,000 บาท (คิดจาก 400,000-50,000)
แต่กรณีที่มียอดหนี้คงค้างกับไฟแนนซ์ จำนวน 300,000 บาท ขั้นตอนการคืนทุนประกัน คือ บริษัทประกันจะจ่ายให้ไฟแนนซ์ก่อน 300,000 บาท และคืนทุนประกันให้คุณ 100,000 บาท แต่ถ้ายอดหนี้พอดีกับทุนประกันคุณจะไม่ได้อะไรเลย หรือถ้ามากกว่านั้นคุณจำเป็นต้องควักจ่ายเพิ่มส่วนที่เหลือ เป็นต้น
คืนซากรถติดไฟแนนซ์ มีขั้นตอนยังไง?
บอกก่อนเลยว่ากรณีคืนซากรถ ติดไฟแนนซ์ จะมีความยุ่งยากมากกว่ารถที่ผ่อนหมดแล้ว โดยมีรายละเอียดขั้นตอนคืนซากเมื่อรถเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง ดังนี้
- ผู้เอาประกันส่งสำเนาสัญญาไฟแนนซ์ให้บริษัทประกัน
- บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ไฟแนนซ์ก่อน (หักยอดค้าง)
- ถ้ามีส่วนต่างถึงจะจ่ายให้กับผู้เอาประกัน
- ถ้ามีการตกลงซื้อซากคืน ต้องแจ้งกับไฟแนนซ์และประกันร่วมประเมินราคา
และถ้าเป็นกรณีคืนซากรถติดไฟแนนซ์ ไม่มีประกัน (หมายถึงยังไม่ได้ทำประกันชั้นใด รวมถึง พ.ร.บ.รถยนต์) บริษัทประกันไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายอะไร และไฟแนนซ์อาจยึดซากเองตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา
วิธีเคลมประกันรถเมื่อเกิดความเสียหายโดยสิ้นเชิง มีอะไรบ้าง?
เมื่อรถยนต์ของคุณได้รับความเสียหายหนักจนเข้าข่าย “ความเสียหายสิ้นเชิง” บอกไว้เลยว่าการเคลมประกันจะไม่เหมือนกับการซ่อมทั่ว ๆ ไป แต่จะเป็นการ “ขอคืนทุนประกัน” ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับเงินชดเชยอย่างรวดเร็วและครบถ้วน ดังนี้
- แจ้งอุบัติเหตุกับบริษัทประกันทันที พร้อมให้ข้อมูลเลขทะเบียนรถ, เลขที่กรมธรรม์ (สามารถเช็คกรมธรรม์จากเลขบัตรประชาชนได้), สถานที่เกิดเหตุ จากนั้นบริษัทจะส่งเจ้าหน้าที่ประกันมาประเมินเบื้องต้น และนำรถเข้าอู่หรือจุดประเมินซาก
- จากนั้นบริษัทประกันจะประเมินความเสียหาย ว่ารถเข้าข่ายซ่อมหรือคืนทุน หากรถเสียหายโดยสิ้นเชิง บริษัทจะติดต่อแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือโทรแจ้งผลการประเมิน
- จากนั้นให้ผู้เอาประกันเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้พร้อม ดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถ
- สำเนาทะเบียนรถ (เล่มจริงหรือหนังสือแจ้งไฟแนนซ์)
- สำเนาสัญญาเช่าซื้อ/ใบปิดบัญชี (ถ้ารถยังติดไฟแนนซ์)
- แบบฟอร์มเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของบริษัท
- สำเนากรมธรรม์ประกันภัย
- หนังสือยินยอมให้บริษัทรับซากไปขาย (ถ้ามี)
- รอรับเงินคืนทุนประกันได้เลย และถ้าหากสงสัยว่าคืนทุนประกัน ใช้เวลากี่วัน ปกติแล้วหลังจัดส่งเอกสารครบถ้วน บริษัทจะดำเนินการโอนเงินโดยใช้เวลาประมาณ 7-30 วัน แต่ถ้าหากเกิดข้อผิดพลาด เช่น เอกสารไม่ครบ อาจใช้เวลานานกว่านี้
สรุปให้เข้าใจชัด ๆ ว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนหนัก จนบริษัทประกันประเมินว่าเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่บริษัทจะไม่เสนอซ่อม แต่จะเสนอคืนทุนประกันแทน โดยทั่วไปการคืนทุนประกันรถยนต์ ค.ป.ภ. จะใช้เวลาประมาณ 7-30 วันหลังจากได้รับเอกสารครบถ้วน แนะนำให้เตรียมเอกสารไว้ล่วงหน้า และคุยกับไฟแนนซ์ให้ชัดเจน เพื่อช่วยให้ควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น
คำจำกัดความ
โครงรถ | โครงสร้างหลักของรถยนต์ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบช่วงล่าง และตัวถังรถยนต์ เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของรถยนต์ ทำหน้าที่รองรับและยึดส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน |
ซากรถ | รถยนต์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติอีกต่อไป หรือไม่คุ้มค่าที่จะซ่อมแซม |
ลายลักษณ์อักษร | ข้อความ หรือเครื่องหมายที่ขีดเขียนไว้เป็นตัวหนังสือ |