เข้าใจระบบ มิเตอร์แท็กซี่ ขึ้นยังไง ต้องระวังอะไรบ้างหากไม่อยากโดนโกง ?

แชร์ต่อ
เข้าใจอัตราค่าโดยสารของแท็กซี่ และวิธีตรวจสอบมิเตอร์เพื่อป้องกันการโกงค่าแท็กซี่ ที่ MrKumka.com

คงจะดีไม่ใช่น้อยหากรู้ว่า มิเตอร์แท็กซี่ ขึ้นยังไง เพราะเวลาที่อยากจะหลีกเลี่ยงการขับรถยนต์ส่วนตัว แล้วหันมาเลือกใช้บริการ “แท็กซี่” ที่มีความเป็นส่วนตัว สะดวก และรวดเร็วมากกว่ารถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น ไม่มีใครอยากปวดหัวกับ “กลโกง” กันใช่ไหมล่ะ ? MrKumka จึงได้รวบรวม “เรื่องที่ต้องระวัง” มาให้คุณทำความเข้าใจเพิ่มเติม ตามไปดูกันเลย

มิเตอร์แท็กซี่ ขึ้นยังไง แบบไหนเรียกว่า “ผิดปกติ”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้จะเรียกแท็กซี่แต่ละทีมักเต็มไปด้วย “ความระหวาดระแวง” หากเจอคันดี ๆ จะถือว่าแต้มบุญยังมี แต่ส่วนใหญ่จะเจอแต่คันโกงนี่สิ ! แต่ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะเราได้รวบรวมวิธีสังเกตความผิดปกติมาให้เรียบร้อยแล้ว ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า “มิเตอร์” ของรถแท็กซี่ จะมีตัวเลขบอกราคาแท็กซี่ที่วิ่งตามระยะทาง

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ ? จุดสังเกตง่าย ๆ เลยคือ ให้สังเกต “ด้านหลังตัวเลขราคาแท็กซี่ ที่มุมขวาล่าง” จะมีจุดเล็ก ๆ กะพริบตลอดเวลา แต่จุดดังกล่าวจะกะพริบต่อเมื่อแท็กซี่กำลังเคลื่อนที่เท่านั้น หากรถจอดนิ่งสนิท จุดที่กะพริบอยู่ตลอดจะหายไป เหลือไว้เพียงตัวเลขเท่านั้น แต่ถ้าคันไหนไม่หายล่ะก็ รู้ไว้เลยว่ามิเตอร์อาจมีการปรับแต่งให้ “โกงระยะทางอยู่ตลอดเวลา” ส่งผลให้ค่าโดยสารแพงผิดปกตินั่นเอง ระวังกันไว้ด้วยหากต้องโดยสาร

อัพเดท “ค่าแท็กซี่” คิดยังไงต่อระยะทาง

สำหรับ “อัตราค่าโดยสาร” ที่เรานำมาบอกต่อ เป็นการอ้างอิงข้อมูลจาก “กรมการขนส่งทางบก” ที่ประกาศใช้ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2566 ไปดูกันเลยว่า ปกติแล้วแท็กซี่คิดค่าโดยสารต่อระยะทางยังไง !?

  1. กรณีรถยนต์รับจ้างที่มีลักษณะเป็นรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน
    • ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก ค่าโดยสารกิโลเมตร 40 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 10 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 6.50 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 20 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 7 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 40 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 8 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 60 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 8.50 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 80 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 9 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 10.50 บาท
  2. กรณีรถยนต์รับจ้างนอกจากข้อ (1)
    • ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก ค่าโดยสารกิโลเมตร 35 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 10 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 6.50 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 20 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 7 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 40 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 8 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 60 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 8.50 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตร – กิโลเมตรที่ 80 ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 9 บาท
    • ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป ค่าโดยสารกิโลเมตรละ 10.50 บาท
  3. เงื่อนไขเพิ่มเติม
    • กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กำหนดอัตรานาทีละ 3 บาท
    • กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสาร หรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในค่าโดยสาร อีก 20 บาท
    • กรณีจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จอดรอคนโดยสารอยู่ในท่าอากาศยาน ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในค่าโดยสารอีก 50 บาท

วิธีเรียกรถแท็กซี่ให้รับตลอด ไม่ปฏิเสธ

ข้อควรระวังเมื่อใช้บริการแท็กซี่ เพื่อความปลอดภัยและไม่โดนโกงค่าโดยสาร ที่ MrKumka.com

อีกหนึ่งปัญหาน่าปวดหัวคือ “ถูกแท็กซี่เท เรียกกี่คันก็นก” บ้างอ้างไกลบ้าง ส่งรถบ้าง วันนี้เรามีทริคดี ๆ มาบอกต่อ บอกเลยว่าไม่นกแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

เข้าไปนั่งในรถก่อนบอกที่หมาย

หลายคนมักเลือกที่จะบอกที่หมายก่อนขึ้นรถ มีโอกาสถูกเทได้ง่ายมาก แนะนำว่าเมื่อแท็กซี่จอดปุ้บ ให้ขึ้นรถปั้บ พร้อมกับปิดประตูรถให้เรียบร้อยก่อนเอ่ยปากใด ๆ ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีแท็กซี่คันไหนไล่ลงจากรถ เว้นแต่ว่าคนขับคนนั้นเกินเยียวยาแล้วจริง ๆ

เสนอให้ขึ้นทางด่วน หรือเอ่ยปากว่า “รู้ทางลัด”

อีกหนึ่งเหตุผลที่แท็กซี่มักอ้าง เพื่อเทผู้โดยสารคือ “ไกล ไม่รู้จักทาง” ให้บอกไปเลยว่าคุณรู้ทาง สามารถบอกทางได้ พร้อมกับเสนอให้ขึ้นทางด่วน แล้วจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง พูดง่าย ๆ ว่าแสดงตัวไปเลยว่าเป็นคนพื้นที่ รู้ว่าจะต้องไปยังไง (แต่คุณจะต้องรู้ทางจริง ๆ ด้วยนะ ไม่อย่างนั้นอาจปล่อยไก่ระหว่างทางได้)

เรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน

อีกหนึ่ง “ตัวเลือก” ที่น่าสนใจในการเรียกใช้บริการแท็กซี่ คือการเรียกผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไม่ต้องไปยืนโบกเองให้หน้าดำหน้าแดง แถมไม่ต้องเฟลเวลาโดนเทด้วย นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหา “ไม่มีเงินทอน” ได้อีกด้วย เพราะสามารถเลือกจ่ายผ่านบัตร หรือโอนเงินผ่าน mobile bangking เรียกได้ว่าสะดวกสบายสุด ๆ เลยล่ะ

ทั้งหมดนี้คือทริคที่จะช่วยให้คุณ “ไม่นก” จากการเรียกแท็กซี่ สะดวกวิธีไหนจัดได้เลย หรือจะงัดทั้งหมดไปใช้ แต่แนะนำว่าถ้าไม่อยากเสียเวลา ให้เรียกผ่านแอปพลิเคชันไปเลยจบ ๆ เพราะถ้าคันไหนไปเขาจะรับงานเอง วินวินทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องปะทะคารมให้หัวเสีย

วิธีรับมือ ป้องกันโดนหลอก ไม่ให้เจอ “กลโกง”

กรณีที่รู้ตัวแล้วว่าโดนหลอกหรือโกงแน่ ๆ ไม่แนะนำให้โวยวายทันที เพราะอาจเป็นอันตรายได้ แต่ให้ “จำเลขทะเบียนรถ เลขประจำตัวคนขับ หรือตัวเลขบนป้ายสีเหลืองที่อยู่บริเวณประตูรถ” หลังจากนั้นจ่ายค่าโดยสารและทำทีเป็นลงรถตามปกติ พร้อมกับโทรศัพท์ไปร้องเรียนที่เบอร์โทรศัพท์ของ “ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584” หรือเบอร์โทรศัพท์ส่วนกลาง 02-271-8888

ทั้งหมดนี้คือเรื่องของคนขึ้นแท็กซี่ ไม่เคยนั่งต้องรู้ นั่งบ่อย ๆ ต้องสังเกต สำหรับข้อมูลดี ๆ ที่เรานำมาบอกต่อในวันนี้ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกส่วน กรณีที่พบเจอกับกลโกงแท็กซี่ แนะนำให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดีที่สุด แถมยังช่วย “กระตุ้น” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาอย่างจริงจัง หลีกเลี่ยงการโหวกเหวกโวยวาย โต้เถียง หรือปะทะคารมให้ได้มากที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นอาจเป็นการพาเรื่องเดือดร้อนมาให้ตัวเอง

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่