คิดจะ ลดหย่อนภาษี มนุษย์เงินเดือนต้องรู้ ประหยัดได้แบบฉบับวัยทำงาน

แชร์ต่อ
วิธีลดหย่อนภาษีที่ไม่ควรพลาด สำหรับพนักงานประจำที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ MrKumka.com

บุคคลธรรมดา หรือพนักงานประจำ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แถมยังสามารถปฏิบัติตามข้อกฎหมายว่าด้วย “การลดหย่อนภาษี” ได้อีกด้วย ซึ่งการลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง ? ให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมได้มากแค่ไหน ? MrKumka ได้รวบรวมรายละเอียดที่เป็นประโยชน์มาให้แล้ว สำหรับพนักงานประจำ ไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันเลย

ไขข้อสงสัย ลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง ?

เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือน ที่อยู่ในวัยทำงานหรือบุคคลธรรมดาที่มีรายได้หลายคน คงเกิดความสงสัยอยู่ไม่น้อย ว่าสามารถ “ลดย่อนภาษีอะไรได้บ้าง” เราได้ลิสต์มาให้แล้ว ดังต่อไปนี้

ลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

  1. ลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท
  2. ลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท
  3. ลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท
  4. ลดหย่อนภาษีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป คนละ 30,000 บาท (เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนบุตรอีก เท่ากับลดหย่อนบุตรคนที่ 2 รวม 60,000 บาท)
  5. ลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและคู่สมรส คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน (สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม)
  6. ลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการ หรือบุคคลทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท

กลุ่มงินออม และการลงทุน ประกัน ลดหย่อนภาษี ได้ มีอะไรบ้าง ?

  1. เงินประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง (สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท เนื่องจากปี พ.ศ.2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม)
  2. ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์
  3. ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ เมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
  5. ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
  6. ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  7. ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
  8. ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
  9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
  10. ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับเงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)

ลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

  1. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  2. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  3. เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ลดหย่อนภาษีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท

ลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน 2565 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวม E-Book)

บุคคลธรรมดา ต้องยื่นแบบภาษีเมื่อไหร่ ?

กรณีที่เป็น “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีเงินได้ ปกติจะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป ยกเว้นเงินได้บางลักษณะ เช่น เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากการรับเหมา ฯลฯ จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี (สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี)

ต้องมี “เงินได้” เท่าไหร่ ถึงจะต้องเสียภาษี ?

เลือกประกันลดหย่อนภาษี เพื่อลดฐานเงินเดือนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา MrKumka.com

สำหรับ “เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำ” ที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี สำหรับคนโสดและคนที่สมรสแล้ว มีหลักเกณฑ์ดังนี้

คนโสด
ประเภทเงินได้ รายได้ต่อเดือน รายได้ทั้งปี
เงินเดือน 10,000 บาท 120,000 บาท
เงินได้ประเภทอื่น 5,000 บาท 60,000 บาท
คนที่สมรสแล้ว
ประเภทเงินได้ รายได้ต่อเดือน รายได้ทั้งปี
เงินเดือน 18,333 บาท 220,000 บาท
เงินได้ประเภทอื่น 10,000 บาท 120,000 บาท

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อัตราภาษีแบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ (บาท) อัตราภาษี ภาษีในแต่ละขั้น
1 – 150,000 ได้รับยกเว้นภาษี
150,001 – 300,000 5% 7,500
300,001 – 500,000 10% 20,000
500,001 – 750,000 15% 37,500
750,001 – 1,000,000 20% 50,000
1,000,001 – 2,000,000 25% 250,000
2,000,001 – 5,000,000 30% 900,000
5,000,001 บาทขึ้นไป 35%
ขั้นตอนที่ 1: คำนวณเงินได้สุทธิ

สูตร: รายได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

ขั้นตอนที่ 2: เทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ขั้นบันได)

สูตร: (เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีขั้นบันไดก่อนหน้าสูงสุด = ภาษีที่ต้องจ่าย

ยกตัวอย่าง: มีรายได้จากเงินเดือน 50,000 บาท รวมทั้งปี 600,000 บาท สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนจากประกันสังคม 6,300 บาท (ปกติสูงสุด 9,000 บาท)แต่ในปีภาษี 2565 รัฐบาลมีการปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 2 ครั้ง เหลือเพียง 6,300 บาท

จะได้ “เงินสุทธิ” เท่ากับ 600,000 – 100,000 – 60,000 – 6,300 = 433,700 บาท จากนั้นให้นำเงินได้สุทธิไปเทียบกับอัตราภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งจะอยู่ระหว่างฐาน 300,001 – 500,000 บาท อัตราภาษี 10%

หมายความว่า “ภาษีที่ต้องจ่าย” เท่ากับ (433,700 – 300,000) x 10% + 7,500 = 20, 870 บาทนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ.2566 มี “รายการลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐาน” มากมาย บางทีลดหย่อนไปลดหย่อนมา อาจไม่ต้องเสียภาษีเลยด้วยซ้ำ สำหรับคนที่มีเงินได้สูง รายการลดหย่อนภาษีเหล่านี้ ก็ยังช่วยให้ “ประหยัดภาษี” ได้มากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นก่อนยื่นแบบภาษีหรือจ่ายภาษีอย่าลืมลดหย่อนภาษีกันด้วยล่ะ !

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่