เรื่องต้องรู้ก่อนให้คนอื่นยืมรถของคุณ มีอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา ?

แชร์ต่อ
เรื่องต้องรู้ก่อนให้คนอื่นยืมรถของคุณ มีอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา

“คนไทยใจดี” คำคำนี้ไม่เกินจริงและที่ใจดีสุด ๆ เลยคือเรื่อง ให้คนอื่นยืมรถ ไม่ว่าจะเป็นญาติ เพื่อนสนิท ฯลฯ ที่คิดว่าวางใจได้ แต่คุณรู้ไหม ? ว่า “ความใจดีอาจนำพาความเดือดร้อนมาให้แบบไม่รู้ตัว”หากเพื่อนหรือญาตินำรถไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ หรือนำไปใช้ในทางที่มิชอบ ถ้าไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ MrKumka ได้รวบรวมรายละเอียดที่น่าสนใจในเรื่องนี้มาให้ดูกัน เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจเอารถให้ใครยืม ตามไปดูกันเลย

ใครต้องรับผิดชอบ เมื่อให้คนอื่นยืมรถ แล้วเกิดอุบัติเหตุ ?

ถ้ามีเพื่อน คนสนิท หรือญาติ มาขอยืมรถ อยากให้คิดดี ๆ คิดอีกรอบ คิดให้รอบคอบ เพราะแต่ละคนมีพฤติกรรมการขับขี่ไม่เหมือนกัน และ “จิตใต้สำนึก” ก็มีไม่เท่ากัน ยิ่งกรณียืมรถไปชน แล้วคนที่ยืมมีนิสัยไม่น่ารัก บอกเลยว่าปวดหัวแน่นอน แต่ก่อนอื่นให้สอบถามก่อนว่า “ใครเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก” เพื่อจะได้ดู “หลักเกณฑ์ความรับผิดชอบ” ดังต่อไปนี้

  • 1. กรณีเพื่อนเป็นฝ่ายถูก

    หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ “เพื่อน (คนยืม) เป็นฝ่ายถูก” ไม่ต้องกังวลอะไรมากนัก เพราะคู่กรณีจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด โดยที่คุณไม่ต้องใช้ประกันรถของตัวเองเลยสักสตางค์เดียว

  • 2. กรณีเพื่อนเป็นฝ่ายผิด

    หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น “เพื่อน (คนยืม) เป็นฝ่ายผิด” อาจจะวุ่น ๆ หน่อยแล้วล่ะ ยิ่งถ้าหากรถของคุณไม่มีประกัน/ประกันขาดด้วยแล้ว ทำเอาหน้าซีด เหงื่อตกกันเลยทีเดียว เพราะถึงแม้ว่า “เพื่อนจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ” ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียหายของฝั่งคู่กรณี หรือฝั่งของคุณเอง แต่ลองคิดดูสิว่าถ้าเพื่อนชิ่ง ปัดความรับผิดชอบขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้น !?

เพื่อนยืมรถไปชน (เป็นฝ่ายผิด) แล้วไม่รับผิดชอบ ทำยังไง ?

ต้องอธิบายก่อนว่า กรณีที่เพื่อน คนสนิท หรือญาติมายืมรถแล้วไปชน ประกอบกับเป็นฝ่ายผิด “สามารถแจ้งเคลมประกันรถได้ตามปกติ” แต่อย่าลืมว่าการเคลมประกันที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลต่อ “ค่าเบี้ยประกัน” ในปีต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังอาจต้องมีการ “เสียค่าเสียหายส่วนแรก” เพิ่มเติมอีกด้วย

แต่ถ้ารถไม่มีประกันด้วย เพื่อนปัดความรับผิดชอบด้วย จะต้องทำยังไงกันต่อล่ะทีนี้ ? บอกเลยว่าสิ่งเดียวที่คุณสามารถพึ่งพาได้ในตอนนี้ คือ “กฎหมาย” ในกรณีนี้สามารถยื่นฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาได้ ซึ่งใคร ๆ รู้ว่าการเดินเรื่องฟ้องร้องนั้นยุ่งยา และมีค่าใช้จ่ายขนาดไหน ดังนั้นก่อนจะให้ใครหยิบยืมรถควรตัดสินใจให้ดี แต่จะดีกว่าหากปฏิเสธไปตั้งแต่แรก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลในภายหลัง

ทริค “การปฏิเสธ” เมื่อมีคนมาขอยืมรถ

เพื่อนยืมรถไปชนเป็นฝ่ายผิดแล้วไม่รับผิดชอบ

เชื่อว่าการให้ยืมรถเป็นเรื่องที่หลายคนค่อนข้างหนักใจ แต่ถ้าจะให้ปฏิเสธออกไปตรง ๆ คงไม่กล้า เราจึงได้รวบรวมทริคการปฏิเสธแบบไม่เสียน้ำใจ ไม่ผิดใจกัน มาให้คุณใช้เป็น “แนวทาง” ดังต่อไปนี้

  • โกหก

    กรณีที่มีคนยืมรถแต่ไม่อยากให้ เมื่อไม่กล้าปฏิเสธให้ “โกหก” ไปเลย แต่จะต้องเป็นการ “โกหกหน้าตาย” อย่าหลุด อย่าล่อกแล่กเด็ดขาด เช่น ได้ยินเสียงแปลก ๆ ขอเช็กดูก่อน แล้วค่อยยืมวันหลัง หรือถ้าเพื่อนบอกว่า “รถท่าทางจะแรง ขอยืมหน่อย” ให้อ้างไปว่าเดี๋ยวเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นนั้นชิ้นนี้ เพื่อให้รถแรงขึ้นอีกหน่อย จะได้ขับสนุกกว่า เป็นต้น

  • ชวนคุยเรื่องอื่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

    กรณีที่คุณโกหกไม่เก่ง กลัวจะหลุดให้ถูกจับได้ ให้ชวนคุยเรื่องอื่นอย่างเนียน ๆ พยายามหาจังหวะที่จะเบี่ยงประเด็นการสนทนาให้ได้ เช่น คุยเรื่องฝนฟ้าอากาศ การงาน ความรัก หรืออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวรถไปเลยอาจจะช่วยได้บ้าง หากคุณไม่พลาดทิ้งประเด็นให้วกกลับมาเรื่องรถอีก

  • อ้างเรื่องความปลอดภัย

    กรณีนี้หากอ้างประกันรถขาดอาจไม่ค่อยได้ผลสักเท่าไหร่นัก เพราะหลายคน (ที่มายืม) มักจะบอกว่า “ไม่ต้องห่วง ขับรถแข็ง ขับรถเป็น” ไม่เกิดอุบัติเหตุแน่ ๆ อีกอย่างขับไปแค่ใกล้ ๆ นี่เอง แนะนำให้อ้าง “เอกสารหรือบุคคลที่สาม” จะดีกว่า เช่น รถยังเป็นของไฟแนนซ์เพราะยังผ่อนอยู่ เขาบอกว่าถ้าจะให้เพื่อนยืมจะต้องดูเอกสารก่อน

  • หลายคนเมื่อเจอดอกนี้เข้าไป อาจเกิดความรู้สึกว่า “อะไรกันแค่ยืมรถเอง ทำไมยุ่งยากขนาดนี้” จนสุดท้ายไม่ยืมไปเลย แต่ถ้าหากเพื่อนของคุณยินดียื่นเอกสาร หรือยังเสียงแข็งว่าจะยืม หากคิดมุกอื่นไม่ออก เห็นทีว่าคุณจะตกที่นั่งลำบากแล้วล่ะ

ทั้งหมดนี้คือ “ทริคเอาตัวรอด” ที่ขึ้นอยู่กับสกิลปากของแต่ละคน ว่าจะสร้างเรื่อง/ปั้นเรื่องได้แยบยลแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่านอกจากอุบัติเหตุแล้ว รถของคุณยังอาจเสี่ยงต่อการนำไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมายได้ด้วย ดังนั้นอย่าเสี่ยงจะดีกว่า ต่อให้จะรู้จักกันดีแค่ไหนก็ตาม

“คนไทย” นอกจากจะเป็นคนใจดีแล้ว ยังเป็นคนขี้เกรงใจมาก ๆ อีกด้วย แม้ว่ารถยนต์จะเป็นของตัวเอง แต่กลับยังเกรงใจที่จะปฏิเสธออกไปตรง ๆ ยิ่งถ้ารถเกิดอุบัติเหตุคงจะไม่กล้าเรียกร้องค่าเสียหายอีก แนะนำให้ “เตือนสติ” ตัวเองให้ดี จำไว้เสมอว่า “นี่รถเรา” ถ้าไม่อยากให้ยืมคือไม่ให้ยืม ปฏิเสธเสียงแข็งไปเลย เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นมามันไม่คุ้มแน่ ๆ ลองปรับ “ชุดความคิด” ของตัวเองดูใหม่ จะได้ไม่ต้องมานั่งปั้นเรื่องเพื่อปฏิเสธคนอื่นจนเคยชิน

เปรียบเทียบราคา หรือ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เราพร้อมให้บริการ

บทความที่น่าสนใจ

เพราะเรารู้ว่าคุณรู้สึกสับสนและมึนหัวเพียงใด ในตอนที่ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช่